Menu
home
>>
วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท นำ ผู้แทนธนาคารโลกลงพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นประชาชน ในโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท และนายดำรงศักดิ์ คงช่วย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 14 นำผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นประชาชนใน “โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา” ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ณ มัสยิดบ้านคลองหมาก อำเภอเกาะลันตา โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบการเดินเรือข้ามฟาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้นำชุมชนชาวอูรักลาโว้ย ผู้นำชาวประมงบ้านหัวหิน นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา ส่วนราชการในพื้นที่ นายฮัจยี สวาสดิ์ หมั่นเพียร อีหม่ามมัสยิดสามัคคี บ้านคลองหมาก และผู้อุทิศที่ดิน เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นในโครงการดังกล่าว ซึ่งประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสะพาน เพราะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกาะลันตาซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน รวมถึงส่งผลดีในด้านการท่องเที่ยวจากการเดินทางที่สะดวก ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงระบบการศึกษาในพื้นที่ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วส่วนในด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมประชาชนในพื้นที่ไม่ได้กังวลมากนักเพราะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันเกาะลันตามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่พบปัญหาการเดินทางและการขนส่งที่ล่าช้า เนื่องจากมีทางเข้าออกเพียงทางเดียวและใช้เวลาเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะลันตาน้อยนาน 1 – 2 ชั่วโมง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในช่วงกลางคืน ต้องเหมาแพขนานยนต์ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นกรมทางหลวงชนบท จึงได้ดำเนินการ ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน โดยได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา เชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตาน้อย โดยมีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 4206 กม. ที่ 26 + 620 ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบท กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.240 กิโลเมตร โดยสถานะโครงการปัจจุบัน ออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีวงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ 1,260 ล้านบาท (70 %) และงบประมาณ 540 ล้านบาท (30 %) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 และจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปี พ.ศ. 2569

อื่นๆ

Skip to content