สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว ดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบแบบผสมผสานระหว่างโครงสร้างเหล็กและคอนกรีต โดยได้นำนวัตกรรมที่สำคัญมาใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ 1. เหล็กต้านทานการกัดกร่อน (Weathering Streel) เป็นเหล็กกล้าคาร์บอนที่ถูกปรับปรุงส่วนผสมทางเคมี เพื่อเพิ่มความต้านทานต่อการถูกกัดกร่อนจากสภาวะในบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. คอนกรีตสมรรถนะสูงพิเศษ (Ultra-High Performance Concrete; UHPC) ซึ่งเป็นคอนกรีตที่ได้รับการพัฒนาส่วนผสมจนทำให้มีคุณลักษณะและความสามารถทำงานที่ดีเยี่ยม สามารถนำมาใช้กับโครงสร้างที่มีลักษณะพิเศษในการรับน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. แผ่นพื้นสำเร็จรูปชนิดเต็มความลึก (Full-Depth Precast Deck Panel) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน ทำให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถควบคุมคุณภาพได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการร่วงหล่นของเศษวัสดุ ซึ่งจะช่วยอำนวยความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานทั้งสิ้นจำนวน 2 แห่ง โดยมีโครงสร้างส่วนบนของสะพานเป็นโครงสร้างเหล็กชนิดป้องกันการกัดกร่อนและโครงสร้างส่วนล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก แห่งแรกมีความยาว 630 เมตร และแห่งที่ 2 มีความยาว 420 เมตร โดยทั้ง 2 สะพานมีความกว้างขนาด 11 เมตร 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) พร้อมมีที่จอดรถบนสะพานทั้ง 2 ด้าน ความยาวด้านละ 30 เมตร สำหรับเพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่สนใจสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เดินผ่านหรืออาศัยอยู่ในบริเวณสะพานได้อีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 79 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีนายอภิชัย วชิระปราการพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน นายไกวัล วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักบำรุงทาง นายกวิน สายประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 3 นายธนะพงษ์ สวัสดิ์ไชย วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ นายกชกร โง้วศิริ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ โดยมีนายพุทธิพงศ์ หะลีห์รัตนวัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มโครงสร้างพิเศษ สำนักก่อสร้างสะพาน นำลงพื้นที่และรายงานผลการดำเนินการในภาพรวม ณ สำนักงานโครงการฯ และพื้นที่โครงการฯ จังหวัดระยอง