นายอติราช วราวิกสิต ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทระยอง เปิดเผยถึงการก่อสร้าง “วงเวียนปี่พระอภัยมณี” ในจังหวัดระยองว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการก่อสร้างของแขวงทางหลวงชนบทระยอง โดยใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2565 ของจังหวัดระยอง โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของกรมทางหลวงชนบทในการดำเนินการก่อสร้าง และที่มาของงานประติมากรรมปี่พระอภัยมณีบริเวณทางแยกโรงเรียนกวงฮั้ว กม.ที่ 3+170 เกิดจากความต้องการของผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ต้องการให้ยกเลิกการเปิดใช้สัญญาณไฟจราจร เนื่องจากแยกดังกล่าวอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน มีปริมาณการจราจรจำนวนมากในช่วงเช้า – เย็น และมีการจอดรถรับส่งนักเรียนบนผิวถนน ทำให้เหลือช่องจราจรเพียงช่องเดียว ดังนั้น การเปิดใช้สัญญาณไฟจราจร จะทำให้เกิดปัญหารถติดมากยิ่งขึ้น
แขวงทางหลวงชนบทระยองจึงได้ให้บริษัทที่ปรึกษา ศึกษารูปแบบการแก้ไขปัญหาจราจร พร้อมออกแบบบริเวณทางแยก จึงเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหาในรูปแบบวงเวียนประติมากรรมปี่พระอภัยมณี ทั้งนี้ ผู้ออกแบบต้องการสอดแทรกสาระความเป็นมาของวรรณคดีในจังหวัดระยองให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนได้รับรู้และรับทราบถึงเรื่องราวความเป็นมาของวรรณคดีพระอภัยมณีและต้องการให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในจังหวัด รวมถึงต้องการเชิดชูเกียรติท่านสุนทรโวหาร (ภู่) ประกอบกับคณะทำงานฯ ในสมัยนั้นต้องการออกแบบประติมากรรมบริเวณวงเวียนในรูปแบบปี่พระอภัยมณีให้มีความโดดเด่น ส่วนบริเวณลิ้นปี่ คณะทำงานฯ ต้องการให้เป็นในรูปแบบพระอภัยมณีเป่าปี่ ความสูง 2 เมตร นั่งอยู่บนปี่ตามภาพที่ปรากฏในข่าวและสื่อโซเชียลมีเดีย
สำหรับโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย รย.5037 แยกทางหลวงชนบท รย.4006 – บ้านเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 5.775 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 39,989,000 บาท แบ่งออกเป็นงานปรับปรุงเสริมผิวลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ระยะทาง 4.639 กิโลเมตร งานขยายถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ระยะทาง 0.813 กิโลเมตร และงานก่อสร้างวงเวียนปี่พระอภัยมณี จำนวน 1 แห่ง เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566
อย่างไรก็ตาม แขวงทางหลวงชนบทระยองได้รับทราบในความคิดเห็นของประชาชน และขอขอบคุณทุกความคิดเห็นของประชาชนที่มีความห่วงใยต่อรูปแบบประติมากรรม “ปี่พระอภัยมณี” โดยในเบื้องต้นแขวงทางหลวงชนบทระยองจะเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบวงเวียนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งจะนำ QR Code ไปติดตั้งในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นประชาชนและนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป