Menu
home
>>
ธนาคารโลก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสภาพัฒน์ฯ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ในโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาของกรมทางหลวงชนบท

นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท (ด้านสำรวจและออกแบบ) นายชัยยุทธ เขียวจันทร์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 12 และนายดำรงศักดิ์ คงช่วย วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 14 นำผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา” ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ณ อาคารประชุมเทศบาลตำบลจองถนน จังหวัดพัทลุง ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีตัวแทนเจ้าของที่ดิน ผู้อุทิศที่ดิน ฝั่งจังหวัดสงขลา – พัทลุง ผู้แทนประมง ส่วนราชการในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่โครงการได้ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางในด้านต่าง ๆ อาทิ

1. ด้านสังคม ประชาชนต้องการให้ก่อสร้างสะพานฯ เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัด โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้อุทิศที่ดินบางส่วนให้กับโครงการ เพราะมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เป็นสาธารณะประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป

2. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะโลมาอิรวดีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์รอบทะเลสาบสงขลา อาทิ การกำหนดมาตรการในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกัน รวมถึงการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามแนวทางที่ได้กำหนด ควรห้ามการใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี และควรสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

3. ด้านการก่อสร้าง ควรนำความเห็นของทุกภาคส่วนไปศึกษา และกำหนดแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคต

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา มีวงเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท โดยในส่วนของค่าก่อสร้างมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้คิดเป็นวงเงิน 3,290 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีคิดเป็นวงเงิน 1,410 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงานคิดเป็นวงเงิน 141 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวง แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางในกรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) รูปแบบสะพานประกอบด้วยสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร รวมถึงบริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

อื่นๆ

Skip to content