อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโครงสร้างถนนสายนี้มีการเสื่อมสภาพจากการใช้งานเป็นระยะเวลานาน และปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเหตุอุทกภัย ส่งผลให้โครงสร้างชั้นทางได้รับความเสียหาย ทช. จึงได้ดำเนินการซ่อมบำรุงผิวจราจร โดยดำเนินการขุดกัดผิวทางและขุดซ่อมโครงสร้างเดิม (DEEP PATCH) พร้อมทั้งขุดกัดผิวทางเดิม พื้นทาง และไหล่ทางเดิม โดยวิธี Pavement In – Place Recycling แล้วจึงดำเนินการปูผิวแอสฟัลต์ติกคอนกรีตกว้าง 8 เมตร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ปุ่มสะท้อนแสง และตีเส้นจราจรด้วยสีเทอร์โมพลาสติก ตีเส้นชะลอความเร็วทั้ง 2 ทิศทาง บริเวณแยกหน้าโรงเรียนแสนจำหน่ายวิทยา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 17+885 ถึง กม.ที่ 22+800 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 29.950 ล้านบาท
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ และเปิดใช้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงมั่นคงของผิวจราจร รองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงเชื่อมต่อการเดินทางสู่ถนนสายหลักและสถานที่สำคัญในพื้นที่ เช่น วัด โรงเรียน รวมถึงการขนส่งสินค้าและพืชผลทางการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย