ทช. ได้ทดลองนำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมของผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำขยะพลาสติกมาผสมกับแอสฟัลต์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และได้ทดสอบจากการใช้งานในเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรจากรถยนต์และรถบรรทุก เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างเป็นมาตรฐานในการก่อสร้าง และบำรุงทางในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ไม่มีราคา และย่อยสลายได้ยากให้เกิดประโยชน์ ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้เฉลี่ย 5 ตัน ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนน
ปัจจุบัน ทช. โดยสำนักวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา ได้ดำเนินโครงการถนนทดลอง ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ไปแล้วจำนวน 4 สายทาง ระยะทางรวม 6.2 กิโลเมตร สำหรับปี 2567 ทช. มีแผนที่จะดำเนินโครงการบำรุงรักษาทางหลวงชนบทสาย นม.3140 แยก ทล.226 – ทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีตผสมขยะพลาสติก ระยะทาง 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่สัญจรไปมาได้รับความสะดวกในการเดินทาง ยกระดับประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้ถนนและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย